วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คำแนะนำ เรื่องการป้องกันโรคโปลิโอ

โรคโปลิโอ และการป้องกันโรค
 

v  ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการกวาดล้างโรคโปลิโอแล้ว
     โดยพบผู้ป่วยรายสุดท้าย เมื่อ เมษายน 2540 จากการทุ่มเทในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่และความร่วมมือของประชาชนในการพาบุตรหลานมารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แต่อย่างไรก็ตามประเทศไทยอาจเกิดการระบาดของโรคได้อีก ซึ่งถ้าเกิดการระบาดประเทศไทยจะต้องใช้งบประมาณและบุคลากรจำนวนมากในการกวาดล้างโรคโปลิโอ
v  โรคโปลิโอยังมีระบาดอยู่ในอีก 4 ประเทศ และมีการแพร่ระบาดเข้าไปในอีกหลายประเทศ
     ประเทศที่มีโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ในภาวะที่การเดินทางไปมาระหว่างประเทศมีความสะดวกรวดเร็ว ทำให้เชื้อโปลิโอจากประเทศที่ยังมีการระบาด แพร่กระจายไปสู่ประเทศที่ปลอดจากโรคโปลิโอแล้ว จนเกิดการระบาดกลับมาใหม่ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเทศอินโดนีเซีย พบโรคโปลิโอกลับมาอีกหลังจากปลอดโรคมานาน 10 ปี และอีกกว่า 22 ประเทศ มีการระบาดของโรคกลับมาใหม่โดยการแพร่เชื้อมาจาก 4 ประเทศ ที่กล่าวมาปัญหาการระบาดมีสาเหตุสำคัญมาจากการที่มีเด็กที่ยังไม่มีภูมิต้านทานโรคอยู่ ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อและแพร่กระจายเชื้อไปยังเด็กอื่นๆ ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน หรือภูมิต้านทานโรคที่ไม่สูงพอ ใน พ.ศ. 2553 สถานการณ์การเกิดโรคโปลิโอยังไม่น่าวางใจ เนื่องจากมีปัญหาการระบาดข้ามประเทศจากประเทศที่ยังมีโรคโปลิโอเป็นโรคประจำถิ่นไปยังประเทศที่ปลอดโรคแล้ว โดยพบการระบาดกลับมาใหม่ในประเทศทาจิกิสถาน ภายหลังพบผู้ป่วยโปลิโอรายสุดท้ายเมื่อปี 2540 (13 ปีผ่านมา) เป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศไทยที่ไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมาแล้วกว่า 13 ปีเช่นกัน มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดได้ 
v  ประเทศไทยต้องรณรงค์ให้วัคซีนโปลิโอทุกปี ทั้งๆ ที่ไม่มีผู้ป่วยโปลิโอแล้ว
          การรณรงค์ยังจำเป็นในประเทศที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ เนื่องจากประเทศใกล้เคียงยังพบมีการระบาดของโรคอยู่  ประกอบ
  กับการเดินทางไปมาระหว่างประเทศเป็นไปได้ง่าย จึงเป็นโอกาสที่อาจมีการนำเชื้อเข้ามาแพร่ให้เด็กไทยได้  อีกทั้งยังมีเด็กต่างด้าว 
  อยู่มากมาย ซึ่งเด็กเหล่านี้หลบซ่อน หรือย้ายที่อยู่บ่อย จึงได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะแพร่กระจายสู่เด็กไทยได้   
  ดังนั้น  กลไกสำคัญของการรณรงค์คือให้วัคซีนพร้อมกันวันเดียวแก่เด็ก  เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้สูง และกวาดล้างเชื้อ
  โปลิโอให้หมดไปอย่างรวดเร็ว เพื่อรักษาภาวะปลอดโรคไว้ จนกว่าจะกวาดล้างโรคโปลิโอได้หมดทั่วโลก 
 
v  เราสามารถช่วยป้องกันไม่ให้โรคโปลิโอกลับมาแพร่ระบาดได้อีก โดย
ช่วยกันเฝ้าระวังโรค : ถ้าพบเห็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอาการแขนขาอ่อนแรง ควรแนะนำให้รีบไปพบแพทย์ ที่โรงพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่สถานีอนามัย หรือศูนย์บริหารสาธารณสุขที่ใกล้บ้าน เพื่อให้มีการตรวจหาเชื้อโปลิโอ และหาสาเหตุอื่นต่อไป  
ช่วยกันป้องกันโรค :  ตรวจสอบดูประวัติรับวัคซีนของบุตรหลานในสมุดบันทึกสุขภาพว่าได้รับครบถ้วนตามกำหนดหรือไม่ โดยปกติเด็กทุกคนจะได้รับสมุดบันทึกฯ เมื่อแรกคลอด และใช้เป็นประวัติสุขภาพติดตัวทุกครั้งที่โรงพยาบาลเพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนดนัด หากไม่มั่นใจว่าบุตรหลานได้รับวัคซีนครบหรือไม่ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อจะได้นักหมายมารับวัคซีนให้ครบถ้วน หรือหากเป็นช่วงรณรงค์ประจำปี ในเดือนธันวาคมและมกราคม ก็สามารถมาปรึกษาและขอรับวัคซีนได้

v  โรคโปลิโอ เดิมเรียกว่า โรคไข้ไขสันหลังอักเสบ เป็นโรคติดต่อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เชื้อจะเข้าไปในระบบประสาท และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการอัมพาตตามมา เชื้อไวรัสโปลิโอสามารถก่อให้เกิดโรคได้ในคนทุกกลุ่มอายุแต่มักจะเกิดโรคในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี มากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรค หรือมีภูมิต้านทานไม่เพียงพอ ส่วนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ มักจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต
v  เชื้อไวรัสจะเข้าร่างกายทางปาก  โดยกินเชื้อที่ติดไปกับมือ หรืออาหารซึ่งเชื้อไวรัสจะผ่านออกมากับอุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการเชื้อไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในหลอดอาหารส่วนบนและลำไส้ ต่อมาจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลือง เมื่อเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้น จะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ป่วย จากนั้นเชื้อบางส่วนจะเข้าสู่ระบบประสาท ทำลายเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ถ้าเป็นมากเซลล์ประสาทถูกทำลาย ก็จะเป็นอัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก และจะลีบเล็กลงในที่สุด
v  อาการของโรค คือ ผู้ป่วยมักจะมีไข้ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บคอ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ บางรายปวดศีรษะมาก มีอาการตึงกล้ามเนื้อที่คอด้านหลัง ตามลำตัวและขา ผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงจะเริ่มด้วยอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ตามด้วยการมีอัมพาตของกล้ามเนื้อที่แขนหรือขา ทำให้เกิดกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
v  สร้างภูมิต้านทานตั้งแต่เด็กเพื่อป้องกันโรค ด้วยการให้วัคซีนป้องกันโรค เป็นการป้องกันโรคที่ดีที่สุด โดยนำเด็กมารับวัคซีน พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ตามกำหนดการให้วัคซีนปกติที่โรงพยาบาลนัดไว้ให้ครบอย่างน้อย 3 ครั้ง เมื่ออายุครบ 1 ปี และจะได้รับวัคซีนกระตุ้นอีก 2 ครั้ง เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง และ 4 ปี และให้วัคซีนเสริมอีก 2 ครั้ง ในช่วงรณรงค์เดือนธันวาคม และมกราคม ของทุกปี
ล้างมือให้สะอาด ป้องกันได้ทุกโรค ให้เด็กล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังขับถ่าย หรือพยายามล้างมือให้เด็กด้วยน้ำสบู่บ่อยๆ ดูแลการขับถ่ายและกำจัดอุจจาระเด็กให้ถูกสุขลักษณะโดยถ่ายอุจจาระลงส้วมทุกครั้ง และรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด จะช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากการได้รับเชื้อที่เข้าทางปากได้
v  การมารับวัคซีนในช่วงที่มีการรณรงค์ฯ จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคให้แก่เด็ก
โดยปกติกระทรวงสาธารณสุขจะกำหนดให้มีการรณรงค์เป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง ช่วงเดือนธันวาคม และมกราคม เพื่อให้เด็กทุกคนมีภูมิต้านทานโรคเพิ่มขึ้น ทำให้เชื้อโปลิโอไม่สามารถอยู่ในร่างกายเด็ก และจะถูกกำจัดออกไป
v  ข้อแนะนำเกี่ยวกับการรับวัคซีน
    ข้อควรระวังในการรับวัคซีน
-       ไม่ให้วัคซีนในเด็กที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล เด็กที่ป่วย หรือมีคนป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือโรคมะเร็ง
-       วัคซีนนี้เป็นชนิดกินไม่ต้องฉีดให้เจ็บ ไม่มีไข้ อาการข้างเคียงอื่นๆ พบได้น้อยถ้าก่อนรับวัคซีนเด็กมีอาการป่วยธรรมดา เช่นเป็นไข้ ไข้หวัด ท้องเสีย ก็รับวัคซีนได้ ส่วนเด็กที่ติดเชื้อ เอช ไอ วี สามารถให้วัคซีนชนิดกินได้เหมือนเด็กปกติ ไม่ว่าจะมีอาการของโรคเอดส์แล้วหรือไม่ก็ตาม
-       ได้รับวัคซีนโปลิโอหลายครั้งไม่เป็นอันตราย เด็กบางคนแม้จะได้รับวัคซีนมาหลายครั้งแต่อาจยังมีระดับภูมิต้านทานโรคที่ไม่สูงพอที่จะป้องกันโรคได้ และการได้รับวัคซีนหลายครั้งก็ยังไม่มีอันตรายแต่อย่างใดแต่กลับจะยิ่งช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันโรคให้สูงขึ้น
-       ถ้าเด็กอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อโปลิโอ โดยเป็นเด็กเพิ่งคลอด หรือยังไม่ถึงวันที่หมอนัดรับวัคซีนครั้งแรก ก็ควรพาเด็กไปหยอดวัคซีน เพื่อป้องกันเด็กจากการได้รับเชื้อ และเป็นโอกาสดีที่เด็กจะได้รับวัคซีนป้องกันเร็วขึ้น
v  ค่าใช้จ่าย : ฟรี
***********************

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น