วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การป้องกันโรคในฤดูหนาว

(สำเนา)
ประกาศกรมแพทย์ทหารบก

เรื่อง   คำแนะนำการป้องกันโรคที่พบบ่อยในฤดูหนาว

---------------------------------
            เนื่องจากขณะนี้ถึงฤดูหนาวแล้ว และในช่วงฤดูหนาวมีโรคหลายชนิดที่พบบ่อยกว่าฤดูอื่น กรมแพทย์ทหารบกมีความห่วงใยทหารและครอบครัว เกรงว่าจะเกิดการเจ็บป่วยขึ้น จึงขอแนะนำให้ทราบโรคที่พบบ่อยในฤดูหนาวและการป้องกัน ดังนี้.-
1. โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในฤดูหนาวและฤดูฝน
               1.1 สาเหตุ  เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย
               1.2 การติดต่อ เชื้อโรคเหล่านี้จะแพร่ออกมาพร้อมกับลมหายใจ น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยหรือพาหะ การไอ จามหรือพุดจะทำให้เชื้อออกมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดจึงติดต่อได้ง่ายโดยหายใจเอาเชื้อโรคเข้าไป หรือเชื้อโรคอาจติดตาม ภาชนะ ผ้าเช็ดตัวหรือมือทำให้แพร่โรคต่อไปได้
               1.3 อาการ อาการของโรคกลุ่มนี้มีแตกต่างกันแล้วแต่เชื้อโรค อวัยวะที่ติดเชื้อและเวลาที่เป็นโรค อาการเหล่านี้ ได้แก่ ไข้ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ เจ็บหน้าอก หอบ ปวดเมื่อย โรคแทรกซ้อนที่สำคัญของกลุ่มนี้ คือ ปอดอักเสบ เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจตายได้
               1.4 การป้องกันและควบคุม
                        1.4.1 หลีกเลี่ยงการอยู่ที่แออัด การจัดที่พักทหารต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี
                        1.4.2 กวดขันการสุขาภิบาลโรงเลี้ยง ภาชนะเครื่องใช้ที่เกี่ยวกับการประกอบอาหารและบริโภคต้องรักษาให้สะอาดอยู่เสมอ ถ้าเจ้าหน้าที่ประกอบอาหารหรือเจ้าหน้าที่โรงเลี้ยงป่วยด้วยโรคติดต่อเชื้อระบบทางเดินหายใจ ต้องให้พักงานชั่วคราวจนกว่าจะหายเป็นปกติ
                        1.4.3 ปฏิบัติหลักสุขศาสตร์ส่วนบุคคล โดยการไม่ใช้ภาชนะสำหรับใส่อาหาร ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้าร่วมกัน เวลาไอต้องปิดปากและจมูก ไม่ถ่มน้ำลายและเสมหะลงตามพื้น
                        1.4.4 รักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อให้มีความต้านทานโรคที่สูงพอ โดยออกกำลังกายพอควร ไม่ตรากตรำเกินไป และพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงจากเหตุบั่นทอนสุข-ภาพ เช่น นอนดึก เสพของมึนเมา เป็นต้น บริโภคอาการที่มีคุณค่าและเพียงพอ และรักษาร่างกายให้อบอุ่นโดยสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
                        1.4.5 เมื่อมีผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจต้องรีบแยกไว้รักษาต่างหาก ทั้งนี้แล้วแต่เจ้าหน้าที่แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
-2-
            2. โรคเยื่อตาอักเสบหรือโรคตาแดง พบว่าเคยระบาดในช่วงปลายฤดูหนาว
               2.1 สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส
               2.2 การติดต่อ เชื้อโรคออกมากับขี้ตาของผู้ป่วย แล้วแพร่ไปสู่ผู้อื่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การให้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือเครื่องใช้ร่วมกัน โรคนี้จะระบาดได้ง่ายในทหารที่พักอยู่รวมกัน หากมีคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ เชื้อโรคอาจติดมากับมือที่ใช้จับต้องของใช้ร่วมกับผู้ป่วย แล้วนำมาสัมผัสตา ทำให้เกิดอาการติดเชื้อได้ อาจเพร่โดยแมลงหวี่ที่ชอบตอมตาหรืออาจเกี่ยวกับการอาบน้ำในแหล่งน้ำที่มีผู้ใช้น้ำร่วมกันมากๆ
               2.3 อาการ มีการอักเสบของเยื่อบุตาอย่างรุนแรง และมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ทำให้เคืองตามาก ตาพร่ามัว และมีน้ำตาไหลมาก หนังตาบวม อาจมีอาการตาแดงข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
               2.4 การป้องกันและควบคุม
                        2.4.1 เมื่อพบผู้ป่วยโรคนี้ต้องรีบแยกผู้ป่วยทันที และให้ส่งสถานพยาบาลใกล้เคียง
                        2.4.2 ปฏิบัติตามหลักสุขศาสตร์ส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการไม่ใช้สิ่งของและภาชนะร่วมกัน ขณะการระบาดของโรคให้ระมัดระวังการติดเชื้อบริเวณห้องส้วม ห้องน้ำ และห้องอาหาร
                        2.4.3 แนะนำให้ทหารทราบถึงอาการโรคนี้ เมื่อปรากฏอาการที่น่าสงสัย ให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่แพทย์ทันที
                        2.4.4 เมื่อมีอาการตาแดงหรืออาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ไม่ควรล้างตา เพราะในน้ำตามีภูมิต้านทาน การล้างตาเท่ากับการล้างเอาภูมิต้านทานทิ้งไปและอาจทำให้การติดเชื้อลามจากตาข้างหนึ่งไปสู่ตาอีกข้างหนึ่งได้
                        2.4.5 ถ้ามีทหารป่วยด้วยโรคนี้เกิน 5%  ให้รายงาน พบ.โดยด่วน
            3. โรคภูมิแพ้ โรคนี้มีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนอุณหภูมิของอากาศ ได้แก่ โรคหืดหลอดลม และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโรคแพ้อากาศ
               3.1 สาเหตุ   เกิดจากปฏิกิริยาภูมิไวเกิน (ภูมิแพ้)  ของร่างกายคนที่มีต่อสารหรือสิ่ง
แวดล้อมบางอย่าง สภาพอากาศที่เย็นหรือสภาวะที่เปลี่ยนอุณหภูมิก็เป็นสิ่งแวดล้อมหรือปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะกระตุ้นผู้ป่วยให้มีอาการต่างๆ แล้วแต่ชนิดของโรคภูมิแพ้ ตัวอย่างสารที่ผู้ป่วยแพ้

ได้แก่ ฝุ่น เชื้อรา ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ เป็นต้น

               3.2 การติดต่อ โรคกลุ่มนี้เป็นโรคไม่ติดต่อ แต่พบว่ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปสู่ลูกหลานได้
-3-
               3.3 อาการ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ เลยถ้าไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ป่วยแพ้ แต่ถ้าสัมผัสกับสิ่งที่แพ้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดหลอดลมจะมีการหอบ แน่นหน้าอก ไอ หายใจลำบาก โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จะมีอาการจาม มีน้ำมูกใสไหล คันจมูก คัดจมูก อาการเหล่านี้จะเป็นๆ หายๆ แล้วแต่ผู้ป่วยได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่เขาแพ้หรือไม่ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดได้ง่ายในฤดูหนาว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้ที่เป็นโรคหืดหลอดลม และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ มีอาการได้ง่ายหรือมีอาการมากขึ้น
            3.4 การป้องกัน
               3.4.1 หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่แพ้ เป็นวิธีที่สุด ถ้าทรายว่าแพ้สารใด
               3.4.2 หลีกเลี่ยงจากปัจจัยเสริมต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการขึ้น เช่น โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงหรือความเครียด
               3.4.3 หลีกเลี่ยงจาการกระทบกับความเย็น โดยสวมเสื้อผ้าให้อบอุ่น ดื่มน้ำอุ่น ไม่อยู่ในที่มีอุณหภูมิเย็นจัดหรือร้อนจัด
               3.4.4 รักษาร่างกายให้แข็งแรง โดยออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ
               3.4.5 ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา

                                                ประกาศ         วันที่      8    พฤศจิกายน    2530

                                                (ลงชื่อ)  พลโท      สิงหา   เสาวภาพ
                                                                        (  สิงหา   เสาวภาพ  )
                                                                        เจ้ากรมแพทย์ทหารบก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น